รอบรู้ทูน่า

ปลาทูน่าครีบเหลือง

 ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ  YELLOWFIN TUNA
ชื่อวิทยาศาสตร์  Thunnusalbacares (Bonnaterre,1788) 

 วงศ์ Scombridae , subfamily: Scombrinae

ปลาทูน่าครีบเหลืองเป็นปลาที่อาศัยอยู่ในทะเลเขตร้อนที่อุณหภูมิของน้ำ 15-31 องศาเซลเซียส บริเวณละติจูด 52 องศาเหนือ ถึง 45 องศาใต้ ลองกิจูด 180 องศาตะวันตก ถึง 180 องศาตะวันออก อาศัยอยู่ตั้งแต่ระดับผิวน้ำจนถึงน้ำลึก 250 เมตร  พบแพร่กระจายอยู่ทั่วไปแต่ไม่พบในทะเลเมดิเตอเรเนียน เป็นปลาที่มีการอพยพย้ายถิ่นอยู่ตลอดเวลา โดยปกติจะอยู่ในระดับผิวน้ำจนถึงระดับลึก 100 เมตร มักอาศัยอยู่เหนือระดับชั้นเทอร์โมไคลน์ และมักอาศัยอยู่บริเวณแนวสันเขาใต้น้ำบางครั้งพบรวมฝูงอยู่กับพวกปลาโลมาหรืออยู่กับขยะที่ล่องลอยในมหาสมุทร อาหารเป็นปลา หมึก และพวกปูและกุ้ง ปลาทูน่าครีบเหลืองจะมีความอ่อนไหวกับปริมาณออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำที่มีปริมาณต่ำ

ลักษณะที่เห็นได้ชัดของปลาทูน่าครีบเหลืองคือ ความกว้างที่สุดของลำตัวปลาอยู่บริเวณกึ่งกลางของครีบหลังอันแรก ครีบหลังอันแรกแยกออกจากครีบหลังอันที่สองอย่างชัดเจน ครีบหูมีความยาวถึงกึ่งกลางของฐานครีบหลังอันที่สองในปลาทูน่าขนาดใหญ่ ครีบหลังอันที่สองและครีบก้นมีขนาดยาวมาก (ยาวกว่าความยาวของครีบหลัง 20%) เมื่อผ่าท้องออกดูจะพบว่าด้านล่างของตับจะไม่ลาย ด้านหลังเป็นสีน้ำเงินดำ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเหลือง และสีน้ำเงินด้านล่างของลำตัว ปลาทูน่าครีบเหลืองขนาดใหญ่จะพบจุดสีเข้มเป็นแถวตามแนวดิ่งประมาณ 20 แถว ครีบหลังและครีบก้นมีสีเหลืองสด มีครีบเล็กสีเหลืองจำนวน 7-10 คู่ และที่ปลายของครีบเล็กจะเป็นสีดำ

ขนาดของปลาทูน่าครีบเหลืองที่เคยจับได้และมีรายงานไว้ยาวสุด 239 เซนติเมตร โดยวัดจากด้านหน้าสุดของหัวถึงส้อมหาง น้ำหนักสูงสุดที่มีเคยมีการรายงานไว้ 200 กิโลกรัมและอายุสูงสุด 9 ปี

ปลาทูน่าครีบเหลืองเป็นปลาที่นิยมรับประทานสด และเป็นวัตถุดิบในการทำปลาทูน่าบรรจุกระป๋องโดยความนิยมรองจากปลาทูน่าครีบยาว โดยปกติเนื้อปลาทูน่าครีบเหลืองจะมีสีแดงแต่เมื่อถูกความร้อนจะกลายเป็นสีขาว เนื้อแน่นไม่ยุ่ยทำให้บรรจุกระป๋องได้ง่าย

การจับปลาทูน่าครีบเหลืองจะจับได้ด้วยเครื่องมือประมงอวนล้อม เบ็ดตวัดปลาทูน่า เบ็ดลาก และอวนลอย ซึ่งสามารถจับปลาทูน่าครีบเหลืองขนาดเล็กและขนาดปานกลาง แต่วิธีทำการประมงที่สำคัญที่สุดในการจับปลาทูน่าครีบเหลืองขนาดใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในระดับลึกคือเบ็ดราว

ปลาทูน่าตาโต

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ  BIGEYE TUNA
ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunnusobesus (Lowe, 1839)

วงศ์  Scombridae , subfamily: Scombrinae

ปลาทูน่าตาโตเป็นปลาทูน่าขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรในเขตร้อน ระหว่างละติจูด ที่ 45 องศาเหนือ ถึง 43 องศาใต้ ลองกิจูด 180 องศาตะวันตก ถึง 180 องศาตะวันออก มักชอบว่ายน้ำตั้งแต่ผิวน้ำจนถึง 250 เมตร ที่อุณหภูมิระหว่าง 13-29 องศาเซลเซียส แต่อุณหภูมิที่ชอบคือ 17-22 องศาเซลเซียส จะพบปลาทูนาตาโตในระดับที่ลึกกว่าปลาทูน่าครีบเหลือง ปลาทูน่าตาโตชอบอาศัยอยู่ต่ำกว่าระดับเทอร์โมไคลน์ เล็กน้อย การแพร่กระจายของปลาชนิดนี้ขึ้นอยู่กับสภาวะภูมิอากาศตามฤดูกาลที่มีผลต่ออุณหภูมิของน้ำและชั้นเทอร์โมไคลน์ พบแพร่กระจายทั่วไปในมหาสมุทรแอตแลนติก มหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก อพยพย้ายถิ่นอยู่ตลอดเวลา ลูกปลาวัยอ่อนและปลาขนาดเล็กจะรวมฝูงอยู่บริเวณผิวน้ำซึ่งอาจเป็นชนิดเดียวหรืออาจรวมกับปลาทูน่าชนิดอื่นหรืออยู่กับขยะที่ล่องลอย เมื่อเต็มวัยจะอยู่ลึกลงไป อาหารจะเป็นพวกปลาชนิดต่างๆ รวมทั้งหมึก และพวกกุ้งและปู โดยกินอาหารทั้งเวลากลางวันและกลางคืน
มีลักษณะสำคัญคือ ความกว้างที่สุดของลำตัวปลาอยู่บริเวณกึ่งกลางของครีบหลังอันแรก มีลักษณะคล้ายปลาทูน่าครีบเหลือง แต่ลำตัวอ้วนสั้นกว่าครีบหลังอันแรกแยกออกจากครีบหลังอันที่สองอย่างชัดเจน ครีบหลังอันที่สองมีขนาดใกล้เคียงกับครีบหลังอันแรก ครีบหูมีความยาวถึงกึ่งกลางของฐานครีบหลังอันที่สอง ปลายครีบหางไม่มีแถบแนวดิ่งสีขาว ด้านล่างของตับจะเป็นลาย ตามีขนาดใหญ่ ด้านหลังเป็นสีน้ำเงินดำ แล้วค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินทางด้านล่างของลำตัว ในปลาที่โตเต็มวัยด้านล่างของลำตัวไม่มีจุดสีเข้มเป็นแถวตามแนวดิ่ง จุดเหล่านี้จะพบในปลาทูน่าตาโตที่มีขนาดเล็กทำให้ยากในการแยกปลาทูน่าตาโตจากปลาทูน่าครีบเหลืองขณะวัยอ่อน โดยทั่วไปพบขนาดประมาณ 60-180เซนติเมตรเมตร เริ่มเข้าสู่ภาวะโตเต็มวัยเมื่อมีความยาว 100-130 เซนติเมตร มีรายงานพบตัวยาวที่สุด 250 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุดที่เคยพบ 210 กิโลกรัม อายุสูงสุดที่มีรายงานไว้คือ 11 ปี

ปลาทูน่าตาโตไม่นิยมนำมาบรรจุกระป๋อง เพราะเมื่อเนื้อปลาโดนความร้อนแล้วจะไม่เป็นสีขาว จึงนิยมบริโภคเป็นปลาดิบมากกว่า โดยนำมารับประทานแทนปลาทูน่าครีบน้ำเงิน ซึ่งในปัจจุบันมีการควบคุมปริมาณการจับอย่างเข้มงวด  ปลาทูน่าตาโตจะจับได้โดยเครื่องมือประมงอวนล้อมซึ่งมักจะจับได้ปลาทูน่าตาโตที่โตเต็มวัยขนาดเล็กและปลาทูน่าวัยอ่อนหรืออาจจับได้ด้วยเบ็ดตวัดปลาทูน่า เบ็ดลาก แต่วิธีทำการประมง ที่สำคัญที่สุดในการจับปลาทูน่าตาโตขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่น้ำลึกได้แก่เบ็ดราว

ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ BLUEFIN TUNA
               ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunnusthynnus (Linnaeus, 1758)

วงศ์  Scombridae , subfamily: Scombrinae

ปลาทูน่าสีน้ำเงินเป็นปลาทูน่าขนาดใหญ่ในมหาสมุทรในเขตอบอุ่น ระหว่างละติจูดที่ 72 องศาเหนือ ถึง 24 องศาใต้ ลองกิจูด 99 องศาตะวันตก ถึง 42 องศาตะวันออก ระดับความลึก 0 – 985 เมตร แต่ปกติจะอาศัยอยู่ในระดับ 0 – 100เมตร เป็นปลาอพยพย้ายถิ่น พบแพร่กระจายบริเวณมหาสมุทรแอตแลนติกฝั่งตะวันตกแถบประเทศแคนาดา อ่าวเม็กซิโก ทะเลแคริเบียน ไปถึงแถบประเทศเวเนซุเอล่าและบราซิล มหาสมุทรแอตแลนติกฝั่งตะวันออกบริเวณหมู่เกาะโลโฟเทนนอกฝั่งนอร์เวย์ ไปถึงหมู่เกาะคานารี่ ทะเลเมดิเตอเรเนี่ยนจนถึงทางตอนใต้ของทะเลดำ และมีรายงานว่าพบบริเวณนอกฝั่งของอัฟริกาใต้ ปกติจะอาศัยอยู่ในมหาสมุทร แต่ก็สามารถมาอาศัยอยู่บริเวณใกล้ฝั่งและสามารถทนต่ออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงได้กว้าง มักรวมฝูงกับปลาทูน่าชนิดอื่นๆ อาหารเป็นปลาขนาดเล็ก หมึก และปูสีแดง

ลักษณะที่เห็นได้เด่นชัดคือ ความกว้างที่สุดของลำตัวปลาอยู่ทางตอนต้นของครีบหลังอันที่หนึ่ง ตัวค่อนข้างอ้วนสั้น หัวโต ตาโต ครีบหลังแยกออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน ที่คอดหางมีสีดำ ขนาดของปลาทูน่าครีบสีน้ำเงินใหญ่ที่สุดมีความยาวมากกว่า 300 เซนติเมตร แต่ที่พบทั่วไปมีขนาด 200 เซนติเมตร มีรายงานว่าเคยพบยาวถึง 458 เซนติเมตร และน้ำหนักที่เคยพบมากสุดคือ 684 กิโลกรัม อยุสูงสุดที่มีรายงานคือ 15 ปี

เป็นที่นิยมมากในประเทศญี่ปุ่นทั้งรับประทานสดและบรรจุกระป๋อง แต่ปัจจุบันเป็นชนิดที่หายากเนื่องจากการทำประมงมากจนไม่สามารถเกิดทดแทนได้ทัน

ปลาทูน่าครีบยาว

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ LONGFIN TUNA, ALBACORE
                ชื่อวิทยาศาสตร์ Thunnusalalunga (Bonnatere, 1788)

วงศ์  Scombridae , subfamily: Scombrinae

ปลาทูน่าครีบยาวเป็นปลาทูน่าขนาดใหญ่ที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรในเขตอบอุ่น ระหว่างละติจูดที่ 59 องศาเหนือ ถึง 46 องศาใต้ ลองกิจูด 180 องศาตะวันตก ถึง 180 องศาตะวันออก อาศัยบริเวณผิวน้ำจนถึงกลางน้ำ ในระดับ 0 – 600เมตร อุณหภูมิระหว่าง 10 – 25องศาเซลเซียส พบแพร่กระจายอยู่ในมหาสมุทรทั้งเขตร้อนจนถึงเขตอบอุ่นรวมทั้งแถบทะเลเมดิเตอเรเนียนแต่จะไม่พบบริเวณผิวน้ำบริเวณละติจูดที่ 10 องศาเหนือ ถึง 10 องศาใต้ และพบแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในแถบฝั่งตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกระหว่างละติจูดที่ 50 องศาเหนือ ถึง 40 องศาใต้ และมักจะสับสนกับปลาทูน่าตาโตวัยอ่อนเนื่องจากมีลักษณะคล้ายกันมากโดยเฉพาะลักษณะของท้องที่ยาวและกลมเหมือนกัน ปลาทูน่าครีบยาวเป็นปลาที่อพยพย้ายถิ่นอยู่เสมอ มักพบชุกชุมอยู่บริเวณผิวน้ำที่อุณหภูมิระหว่าง 15.6-19.4 องศาเซลเซียส แต่จะพบปลาขนาดใหญ่ที่อุณหภูมิน้ำอยู่ระหว่าง 13.5-25.2 องศาเซลเซียส ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 9.5 องศาเซลเซียสจะทนได้ไม่นาน มักอยู่รวมฝูงกับปลาทูน่าชนิดอื่นๆ อาหารจะเป็นพวกปลา ปูและกุ้ง รวมทั้งหมึก

ลักษณะที่เห็นได้ชัดของปลาทูน่าชนิดนี้คือ ความกว้างที่สุดของลำตัวปลาอยู่ทางท้ายลำตัวมากกว่าปลาทูน่าชนิดอื่นครีบท้องจะยาวถึง 30% ของความยาวตัว (วัดจากหัวถึงส้อมหาง) ครีบหลังแยกออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน เมื่อผ่าท้องพบว่าด้านล่างของตับจะเป็นลาย

นิยมนำมารับประทานสด รมควัน แช่แข็ง และบรรจุกระป๋อง สหรัฐอเมริกาทำการประมงปลาทูน่าชนิดนี้ในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยต้องได้รับการรับรองจาก Marine Stewardship Council จึงมีการบริหารจัดการที่ดี 

ปลาทูน่าท้องแบน

ชื่อสามัญภาษาอังกฤษ SKIPJACK TUNA
ชื่อวิทยาศาสตร์ Katsuwonuspelamis (Linnaeus, 1758)

วงศ์  Scombridae , subfamily: Scombrinae

ปลาทูน่าท้องแถบเป็นปลาทูน่าขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรในเขตร้อน ระหว่างละติจูดที่ 58องศาเหนือ ถึง 47 องศาใต้ ลองกิจูด 180 องศาตะวันตก ถึง 180 องศาตะวันออก อุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส ที่ระดับความลึก 0 -260 เมตร พบแพร่กระจายอยู่ในมหาสมุทรเขตร้อนแต่ไม่พบทางด้านตะวันออกของทะเลเมดิเตอเรเนียนและทะเลดำ เป็นปลาที่อพยพย้ายถิ่น อาศัยอยู่ห่างจากฝั่งอุณหภูมิของตัวอ่อนอยู่ที่ 15-30 องศาเซลเซียส มักรวมฝูงกระโดดอยู่บริเวณผิวน้ำรวมกับพวกนก ขยะลอยน้ำ ฉลามและปลาวาฬ อาหารจะเป็นพวกปลา กุ้ง หมึก หอย สามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปีในเขตร้อนไข่และตัวอ่อนมักจะกลายเป็นอาหารของปลาผิวน้ำขนาดใหญ่

ลักษณะเห็นได้ชัดคือ ลำตัวเป็นรูปทรงเรียวยาวแบบกระสวย ไม่มีกระเพาะลม ด้านข้างลำตัวมีแถบสีดำทอดตามยาวกับลำตัว 4-5 แถบ ขนาดที่พบที่ใหญ่ที่สุดคือ 108 เซนติเมตร และมีน้ำหนักระหว่าง 32.5-34.5 กิโลกรัม มีรายงานว่าเคยพบปลาทูน่าท้องแถบมีความยาวถึง 110 เซนติเมตร น้ำหนักสูงสุดที่เคยพบคือ 34.5 กิโลกรัม อายุสูงสุดที่มีรายงานไว้คอ 12 ปี

ปลาทูน่าท้องแถบเป็นปลาที่นิยมรับประทานสด รมควัน แช่แข็ง และเป็นวัตถุดิบในการทำปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง ในปัจจุบันปลาทูน่าท้องแถบเป็นปลาทูน่าที่มีอัตราการจับสูงสุดแทนปลาทูน่าครีบเหลือง
ปลาทูน่าท้องแถบอาศัยบริเวณผิวน้ำเกือบทั้งหมดจับได้จากเครื่องมือประมงอวนล้อม เบ็ดตวัดปลาทูน่า แต่สามารถจับได้บ้างด้วยเครื่องมือเบ็ดราว เบ็ดลาก และอวนลอย โดยทั่วไปมักจะสร้างเครื่องล่อปลาให้รวมฝูงหรือซั้ง เพื่อล่อปลาโอแถบให้อยู่รวมกันแล้วจึงทำการประมง

ครีบท้องจะยาวถึง 30% ของความยาวตัว (วัดจากหัวถึงส้อมหาง) ครีบหลังแยกออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน เมื่อผ่าท้องพบว่าด้านล่างของตับจะเป็นลาย

นิยมนำมารับประทานสด รมควัน แช่แข็ง และบรรจุกระป๋อง สหรัฐอเมริกาทำการประมงปลาทูน่าชนิดนี้ในมหาสมุทรแปซิฟิกโดยต้องได้รับการรับรองจาก Marine Stewardship Council จึงมีการบริหารจัดการที่ดี 

ที่มา : http://www.fisheries.go.th/marine/DeepSea/images/Spec

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • Always Active

บันทึกการตั้งค่า